วันที่ 30 สิงหาคม 2562 ที่จังหวัดชลบุรี เครือข่ายสหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทยอันประกอบด้วยสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนระดับจังหวัด และวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ในแต่ละจังหวัด ได้จัดประชุมเพื่อยกระดับปฏิบัติการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน เกษตรอินทรีย์ สมุนไพรอินทรีย์ สู่การเป็น “นิติบุคคล” ตามกฏหมายโดยจัดตั้งเป็น “สมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนไทย” เพื่อให้เป็นกลไกกลางในการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน ร่วมพัฒนาให้เกษตรกรในระบบอินทรีย์ มีองค์ความรู้ในการผลิต เข้าถึงมาตรฐาน และสามารถเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ขับเคลื่อนธุรกิจเกษตรอินทรีย์เพื่อสังคม พัฒนา Startup และขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG (Bioeconomy เศรษฐกิจชีวภาพ Circular economy เศรษฐกิจหมุนเวียน และ Green economy เศรษฐกิจสีเขียว) ตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ตามแนวทางของรัฐบาล “สมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนไทย” มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Thai Sustainable Agriculture Trade Association” ชื่อย่อ TSATA อ่านว่า “ทีซาต้า” ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งตามความในมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสมาคมการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 ทะเบียนเลขที่ 0209562000018 เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2562 โดยมีสำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 30/2 หมู่ 13 ตำบลหนองรี อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี การประชุมในวันที่ 30 สิงหาคม 2562 เป็นการประชุมเพื่อจัดตั้งคณะกรรมการบริหารสมาคม และแจ้งต่อนายทะเบียนและเปิดการดำเนินงานต่อไป โดยที่ประชุมมีมติให้มีการจัดตั้ง 5 สถาบัน ดำเนินงานภายในสมาคมได้แก่ สถาบันสหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thailand Sussainable Agriculture Confederation – TSAC) สถาบันพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์แปรรูปอินทรีย์ (Institute of Sustainable Organic Manufacturing Standard – ISOMS) ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจเกษตรอินทรีย์เพื่อสังคม (Organic Social Enterprise Incubation Center – OSEIC) สถาบันประเมินคุณค่าและมูลค่าของต้นไม้โดยชุมชน (Community Carbon Credit Assessment Institute – CCCAI) และสถาบันจุลินทรีย์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Micro Organism Institure for Sustainable Development – MOISD) และมีมติเห็นชอบตั้งคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ โดยนายธนัชชัย สามเสน ได้รับเลือกเป็นนายก และมีอุปนายกรับผิดชอบทั้ง 5 สถาบันได้แก่ นายเชษฐา สุขประเสริฐ นายสมประสงค์ พยัคฆพันธ์ นางกมลพร ตรียะชาติ นายไสว แสงสว่าง นายบุญรุ้ง สีดำ โดยมี ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ เป็นเลขาธิการ และ ดร.กนก อภิรดี เป็นประธานที่ปรึกษา นายธนัชชัย สามเสน ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมเกษตรกรรมยั่งยืนไทยคนแรกกล่าวขอบคุณทุกคนที่สนับสนุนและได้เล่าถึงการเดินทางร่วมกับทีมงานสหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทยไปทั่วประเทศในหลายปีที่ผ่านมา ได้เห็นความท้าทายของเกษตรกรหัวใจอินทรีย์ทั้งด้านการผลิตและการตลาด และเพิ่งหมดวาระ 2 ปี ในการเป็นประธานสภาหอการค้าจังหวัดอุดรธานี มีเวลาที่จะเป็นเกษตรกรและพร้อมร่วมขับเคลื่อนสมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนไทยอย่างเต็มที่ การขับเคลื่อนทั้ง 5 สถาบันภายใต้สมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนไทยมีความท้ายทายมาก เพราะเป็นเรื่องใหม่ๆทั้งนั้น แต่ก็มีความเชื่อมั่นในทีมงานที่ขับเคลื่อนร่วมกัน โดยเชื่อว่าภายใน 2 ปีแรกนี้น่าจะสามารถสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็งและสร้างการยอมรับทางสังคมได้เป็นอย่างดี นายเชษฐา สุขประเสริฐ อุปนายก ซึ่งดูแลสถาบันสหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทย กล่าวว่าการจัดตั้งสมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนไทยที่มีสถานภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเป็นจังหวะก้าวที่สำคัญมาก เพราะที่ผ่านมามีบางหน่วยงานที่มีคำถามเกี่ยวกับสถานภาพทางกฏหมายของสหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัด ซึ่งไม่มีกฏหมายรองรับ การจัดตั้งสมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนไทยครั้งนี้ จะทำให้ปัญหาเรื่องสถานภาพขององค์กรหมดไป และจะทำให้สหพันธ์ฯ สามารถทำการเชื่อมโยงกับหน่วยงานระดับนโยบายได้โดยง่าย ตลอดจนการเกิดขึ้นของสถาบันต่างๆภายใต้สมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนไทย จะสามารถช่วยพัฒนาให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ที่สามารถนำไปใช้ในการเพิ่มผลิตภาพในเครือข่ายสมาชิกได้
// รายงานโดย ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ เลขาธิการ สมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนไทย